ทะเบียนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตลาดโรงพักเก่าสรรพยา ปี 2564
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้
ลำดับที่ | ประเภท | ชื่อมรดกทางวัฒนธรรม | ความสำคัญ | ภาพถ่าย |
1 | โบราณสถาน
|
อาคารสถานีตำรวจภูธรสรรพยา
หรือโรงพักเก่าสรรพยา |
เป็นสถานีตำรวจภูธรโบราณที่มีโครงสร้างอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในภาคกลาง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 จากหลักฐานของอาคารและสถาปัตยกรรมมีความคล้ายคลึงกับสถานีตำรวจในวังสระปทุม กรุงเทพมหานคร
สถานีตำรวจแห่งนี้ยังปรากฏร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยเป็น จุดรับเสด็จฯ และเป็นที่ประทับค้างแรม จากความสำคัญข้างต้นชุมชนตลาดสรรพยาจึงได้วางแผนและร่วมกันอนุรักษ์ เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมควบคู่กับอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาทและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ พื้นที่แห่งการศึกษาประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป การดำเนินงานบูรณะและซ่อมแซมตัวอาคารสถานีฯ ให้คงสภาพดั้งเดิมที่สุด ได้สำเร็จลงในปี พ.ศ. 2560 ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2561 นอกจากนี้ยังเป็น “ต้นแบบ” ของโรงพัก สามแยก ใน “งานอุ่นไอรัก คลายความหนาว”สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 และ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2561 ถึงวันที่ 19 มกราคม 2562 ณ พระลานพระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า
|
![]()
|
เขื่อนเจ้าพระยา
|
เขื่อนทดน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จากแนวคิดริเริ่มในการก่อสร้างนับจากรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จวบจนการก่อสร้างใน “โครงการเขื่อนเจ้าพระยาใหญ่” พ.ศ.2495 สำเร็จลงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในปี พ.ศ.2500
สถานที่รับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์พระบรมราชินีนาท เสด็จพระราชดำเนินวัดมหาธาตุ จังหวัดชัยนาทและเยี่ยมชมโครงการเขื่อนเจ้าพระยาใหญ่ ในปีพ.ศ. 2498 และ ในปีพ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ในพิธีเปิดเขื่อนเจ้าพระยา อย่างเป็นทางการ เขื่อนเจ้าพระยากั้นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคุ้งน้ำบางกระเบียน ตำบลบางหลวง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ช่วยระบายน้ำจากภาคเหนือสู่พื้นที่ตอนล่างก่อนไหลลงอ่าวไทย ไม่เพียงเอื้อประโยชน์ด้านชลประทานในพื้นที่เพาะปลูกภาคกลางและผลิตไฟฟ้าป้อนจังหวัดชัยนาท ยังเป็นจุดที่คนนิยมไปบันทึกภาพแสงสวยๆ ช่วงก่อน พระอาทิตย์ตกดินด้วย
|
|
||
วัดสรรพยาวัฒนาราม
|
สร้างขึ้นเป็นวัดใน พ.ศ. 2410 ชื่อวัดแห่งนี้มี 3 ชื่อด้วยกัน คือ “วัดเสาธงหิน” “วัดวังหิน” ปัจจุบัน คือ “วัดสรรพยาวัฒนาราม” มีการบันทึกเรื่องราวของประวัติวัดแห่งนี้ โดย นายสำรวม เกตุคำ ศิลปินดีเด่นสาขาวรรณศิลป์ จังหวัดชัยนาท แต่งกลอนเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชื่อที่มาของวัดพอสรุป ได้ดังนี้
วัดวังหินในสมัยก่อนอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยนั้นคล้ายเป็นคลอง ไม่กว้างขวางเช่นในปัจจุบัน สามารถเดินข้ามฟากไปหากันได้ บริเวณหน้าวัดเป็นวังวน น้ำหมุนเป็นเกลียว ถ้ามองจากบนฝั่งลึกลงไปในเกลียวคลื่นนั้น จะเห็นเป็น “เสาหิน” ว่ากันว่า เรือเล็กใหญ่ขึ้นล่อง ถ้าไม่ชำนาญสายน้ำบริเวณนั้น จะถูกดูดลงไปใต้วังวนแห่งนี้ วัดสรรพยาวัฒนารามยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ วิหารน้อย วิหารน้อยตั้งอยู่ในวัดสรรพยาวัฒนาราม ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ทรงจั่ว ก่อซุ้มโค้งทรงกลีบบัว ภายนอกวิหารมีประติมากรรมปูนปั้น “พระฉาย” หรือองค์พระพุทธเจ้าในท่าปางถวายเนตร ประทับเงาพระองค์บนหน้าผาเป็นพระอุเทสิกเจดีย์ ซึ่งหมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศให้แก่พระพุทธเจ้า ปัจจุบันนี้อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร
พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารน้อย พระพุทธรูปดังกล่าว มีลักษณะสมบูรณ์และครบถ้วนตามหลักพระรัตนตรัย กล่าวคือ มีพระพุทธเจ้าบรรทมในลักษณะนอนหงายอยู่ภายในหีบพระบรมศพ และพระมหากัสสปะ อริยสงฆ์ (องค์สีทอง) พร้อมพระสมมติสงฆ์ จำนวน 4 รูป นั่งสมาธิปลงสังเวช ในท่าชันเข่า แสดงอาการเศร้าโศกเป็นตัวแทนของปุถุชนทั้งหมด ส่วนพระบาทพระพุทธองค์ยื่นออกมานอกหีบเป็นปาฏิหาริย์ครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เพื่อให้พระมหากัสสปะและพระสาวกถวายบังคม ก่อนไฟลุกไหม้พระบรมศพ พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ “วันอัฏฐมีบูชา” หรือ “วันถวายพระเพลิงพระบรมศพแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” สะท้อนสัจธรรมในชีวิตที่ไม่มีใครหนีพ้น พระพุทธรูปปางกราบพระบรมศพในวิหารน้อยนี้ ชาวบ้านศรัทธามากโดยนิยมกราบไหว้บูชาเพื่อขอพรเกี่ยวกับสุขภาพให้หายจากอาการเจ็บป่วย หรือ ให้ร่างกายแข็งแรง |
|
||
พระพุทธสำเร็จหรือหลวงพ่อสำเร็จ
หลวงพ่อสำเร็จพระประจำชุมชน สร้างเสร็จภายใน 1 วัน และปิดทองรอบองค์ด้วยพระพุทธรูปองค์เล็ก จำนวน 133,700 องค์ ชุมชนเชื่อว่า กราบท่านครั้งเดียวจะได้รับพรจากพระนับแสนองค์ |
|
|||
เขาสรรพยา | เดิมเป็นภูเขาโดดเดี่ยวกลางทุ่งนาที่ไม่มีใครรู้จัก กระทั่งชาวบ้านค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถาน จึงได้รับความสนใจมากขึ้นและมีการสืบค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและเป็นชื่อที่มาของอำเภอสรรพยา เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ดังนี้
“เขาสรรพยา” จากหลักฐานมุขปาถะ เรื่องเล่าและตำนานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ถึง ความเก่าแก่ของชื่อบ้านนามเมืองที่ย้อนกลับไปได้กว่าพันปีในสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดียโบราณในพื้นที่ภาคกลาง จากหลักฐานชื่อนามสถานที่ที่ปรากฏในตอนหนึ่งของวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหนุมานตามหาสมุนไพร ณ เขาสรรพยา แห่งนี้ เมื่อพระลักษมณ์ต้องศรอินทรชิต หนุมานจึงต้องไปเชิญภูเขานี้มา เนื่องจากมีสมุนไพรชื่อ “สังกรณีตรีชวา” ชื่อเขาสรรพยาจึงกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองมานับแต่โบราณ ครั้นถึงสมัยอยุธยา “เขาสรรพยา” ได้ปรากฏชื่ออีกครั้งใน รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปนครสวรรค์เพื่อรับช้างเผือก โดยเขาสรรพยากลายเป็นเส้นทางสุดท้ายที่ปรากฏในเอกสาร หลักฐานทางวรรณกรรม เรื่อง “นิราศนครสวรรค์” ในปัจจุบันเมื่อได้ไปเยือนเขาสรรพยา หากเดินตามบันไดขึ้นเขาราว 200 ขั้น จะพบงานแกะสลักนูนต่ำเป็นรูปหนุมานบนหินขนาดใหญ่ พร้อมด้วยถ้ำน้ำมนต์หรือถ้ำพระฉาย ซึ่งชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งสมุนไพรที่สำคัญ ผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาเก็บใช้ประโยชน์ เมื่อมองจากจุดชมวิวด้านบนจะเห็นท้องนาที่มีต้นตาลเรียงรายดูสวยงามสบายตาและชื่อบ้านนามเมืองสรรพยายังคงคู่กับดินแดนแถบนี้ สถานที่สำคัญที่อยู่บริเวณเขาสรรพยา ยังมีอีกหลายจุด อาทิ ศาลเจ้าพ่อเสือ เขาสรรพยา เป็นศาลเก่าแก่ที่มีอายุนับร้อยปี จากตำนานว่า “หลวงพ่อเสือ” นี้อยู่เขาสรรพยา อาคารของศาลในปัจจุบันมีการปรับปรุงในครั้งหลัง ส่วนเรื่องความเชื่อของชาวบ้านท้องถิ่น จะมีการบนบาลศาลกล่าว สามารถขอท่านเจ้าพ่อได้หลายเรื่อง และแก้บนด้วยหัวหมู หลวงพ่อเสือจะชอบหัวหมู เหล้าขาว ไก่ 1 ตัว หรือเฉพาะหัวหมูกับไก่ รวมทั้งศาลเจ้าพ่อเสือ เขาสรรพยายังเป็นที่มาของศาลเจ้าพ่อเสือที่ปรากฏในชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ของอำเภอสรรพยาอีกหลายแห่งที่ชาวบ้านศรัทธาและได้อัญเชิญมาจาก เขาสรรพยาแห่งนี้ |
|
||
ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า ณ ตลาดสรรพยา |
ศาลเจ้าประจำชุมชนชาวจีนที่ตั้งอยู่คู่ตลาด สรรพยา” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก มาช้านาน
“ปึงเถ่ากง” ในภาษาแต้จิ๋วนั้นมีความหมายที่ดี คำว่า “ปึง” มาจาก “ปึงจี๊” แปลว่าทุน คำว่า “เถ่า” มาจาก”เถ่าใช่” แปลว่า นิมิตหมายที่ดี ส่วนคำว่า “กง” ใช้เรียกผู้อาวุโส ผู้ชายตา “ปึงเถ่ากง” จึงเป็นเทพเจ้าในใจคนที่ทำการค้า ซึ่งลักษณะทั่วไปของคนค้าขายจะอาศัยอยู่ในเมืองขนาดใหญ่ นอกจากนี้แล้วยังมีลักษณะความผูกพันในครอบครัวที่มีกงมา (ปูย่า หรือ ตายาย) คู่กันอีกด้วย ในปัจจุบันเมื่อผู้คนลูกหลานกลับบ้านในตลาดสรรพยา ในช่วงวันสำคัญ ๆ เช่น วันสงกรานต์ จะมีความครึกครื้นที่สุด และโดยเฉพาะช่วงตรุษจีน วันสารทจีน จะมีงานงิ้วของศาลเจ้าปึงเถ้ากงม่าของตลาดแห่งนี้ทุกปี การจัดงานจัดไม่เคยต่ำกว่า 4 วัน หรือ ตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป เคยมีการจัดงานสูงสุดถึง 9 วัน 9 คืน และ 11 วัน 11 คืน |
|
||
ชุมชนโบราณตลาดสรรพยา | อาคารแถวตลาดโรงพักเก่าสรรพยาย่านชุมชนตลาดเก่าสรรพยา แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้าเจ้าพระยาในอดีต
ลักษณะอาคารบ้านเรือนของชุมชนโบราณตลาดสรรพยาโดยในช่วงแรกนั้น สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ.2499 จะมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวทั้งหมด เป็นห้องขนาดเล็กและหลังคาเตี้ย หรือเป็นห้องแถวไม้ที่ไม่มีการทาสี มีประตูที่เป็นแผ่นไม้ขนาดเล็กสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางแนวตั้งเป็นบานประตูติดๆ กันตามความกว้างของประตูหน้าบ้าน ส่วนตัวบ้านจะมีลักษณะเป็นห้องๆ และมีการสร้างบ้านอยู่เยื้องกัน ตั้งบ้านยังไม่ติดกัน โดยเป็นลักษณะของบ้านที่ตั้งกระจายตัวอยู่ รายทางระหว่างถนน แคบ ๆ เป็นทางเดินที่เกิดขึ้นพร้อมกับตั้งบ้านเรือน ช่วงแรกบ้านแต่ละหลังทยอยกันมา ปลูก ๆ เนื่องจากเป็นญาติพี่น้องกัน อาคารบ้านเรือนที่สร้างขึ้นก่อนในรุ่น จะอยู่บริเวณทางทิศเหนือใกล้สถานีตำรวจภูธรโบราณ โดยสามารถสังเกตได้จากระดับความสูงของบ้าน โดยเฉพาะแนวอาคารทางฝั่งทิศตะวันตกจะมีความสูงเท่ากัน ได้แก่ บ้านยายบุญธรรม และบ้านแป๊ะเฮง เนื่องจากตัวบ้านนั้นสร้างโดยช่างไม้รุ่นแรก เช่น อดีตกำนันชื่อเสริฐ รักอยู่ ส่วนอาคารบ้านทางแถบตะวันออกที่ติดริมแม่น้ำ เป็นบ้านเรือนรุ่นที่ใหม่กว่าและสร้างด้วยช่างหลายคน จึงไม่มีแบบแผนชัดเจน แล้วแต่จะเจ้าของบ้านจะเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ตัวอาคารจะมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน โดยยังคงปรากฏให้เห็นในยุคปัจจุบัน ส่วนในอดีตบ้านเรือนในแถบนี้เป็นเพิง หรืออาจเรียกว่า “เพิงหมาแหงน” เป็นห้องแถวกระจัดกระจาย ส่วนการเปลี่ยนแปลงเป็นบ้านไม้สองชั้นนั้นเกิดขึ้นในยุคหลัง แล้วแต่เจ้าของจะสร้างกันเอง แต่จะมี “การใช้สีทาบ้าน”เกิดขึ้น เช่น สีฟ้า สีเขียว เป็นต้น |
|
||
โบสถ์คริสต์ “ฟรังซีสซาเวียร์” | ชาวบ้านต่างเรียกกันว่า “บ้านญวน” เป็นกลุ่มชาวไทยคาทอลิค ที่นับถือศาสนาคริสต์ อพยพมาตั้งรกรากในพื้นที่ตำบลโพนางดำตะวันตก อำเภอสรรพยา เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว ชาวญวนอพยพคนแรกเป็นตาของ นางสมจิตร สิงลี (อายุ ๗๖ ปี ช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๙) นับว่าเป็นคริสเตียนรุ่นแรกของหมู่บ้าน ต่อมาได้แต่งงาน และตั้งรกรากอยู่ที่บ้านโพนางดำแห่งนี้
สำหรับ “โบสถ์ฟรังซิสซาเวียร์” หรือโบสถ์คริสต์แห่งนี้ เป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางศาสนาตามประวัติที่ยายของนางสมจิตรเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ท่านอยากให้มีโบสถ์อยู่ที่ตำบลโพนางดำแห่งนี้ และเมื่อท่านสิ้น บาทหลวงคมสันต์ ยันต์เจริญ (เจ้าอาวาส โบสถ์แม่พระประจักษ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี) ได้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว สร้างไว้ให้ในที่ดินที่แม่ของนางสมจิตร ที่ท่านซื้อไว้เป็นที่สำหรับสร้างโบสถ์คริสต์สำหรับทำพิธีกรรม ซึ่งทุก ๆ เดือนจะมีบาทหลวงหลายท่านแวะเวียนเดินทางมาทำมิสซา ณ โบสถ์คริสต์แห่งนี้ บุคคลสำคัญที่เคยมา เช่น พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู โดยท่านเคยเดินทางมาที่โบสถ์แห่งนี้ตั้งแต่ท่านยังไม่ได้เป็นพระคาดินัล ซึ่งต่อมาท่านได้พิธีสถาปนาสมณศักดิ์พระคาร์ดินัล ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม นครรัฐวาติกัน ปีพ.ศ.๒๕๒๖ และในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ท่านยังได้เข้าร่วมพิธีปลง พระศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ในฐานะพระคาร์ดินัล รวมทั้งยังร่วมการเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ ๑๖ ประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ณ วิหารซิสติน นครรัฐวาติกัน ซึ่งเป็นตำแหน่งคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติสูงสุดนี้ ยังเดินทางมาเป็นเกียรติถึงตำบลโพนางดำตะวันตก อำเภอสรรพยาด้วย |
|
||
โบราณวัตถุ | หลวงพ่อเฟื่อง พระเกจิอาจารย์ | หลวงปู่เฟื่อง หรือ พระปลัดเฟื่อง ธมฺมโชติ ท่านเป็นเกจิอาจารย์ชื่อดัง “ด้านวาจาสิทธิ์” แห่งอำเภอสรรพยา จากหลักฐานและคำบอกเล่า กล่าวกันว่าท่านเป็นศิษย์หลวงพ่อเขียวเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสรรพยาวัฒนาราม จากนั้นท่านจึงเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่สองต่อจากหลวงพ่อเขียว เมื่อ พ.ศ. 2435 – 2476 และแม้ท่านจะมรณภาพนานแล้ว แต่ญาติโยมยังศรัทธาเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์เรื่องคงกระพันและของหายได้คืน และด้วยความศรัทธาชาวบ้านต่างร่วมใจกันสร้างรูปหล่อหลวงพ่อเฟื่องขึ้น โดยนำมาประดิษฐานให้ลูกหลานกราบไว้ ณ อาคารมณฑป ภายในวัดสรรพยาวัฒนาราม |
|
|
หัตถกรรมพื้นบ้าน | จักสานผักตบชวา
|
หมู่บ้านอ้อยเป็นหมู่บ้านแรกที่ประกอบอาชีพ จักสานผักตบชวา โดย นางจรวยพร เกิดเสม ประธานกลุ่มหัตถกรรมจักสานผักตบชวา ที่ได้รับเกียรติบัตรเชิดชูจากศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ คัดเลือกให้เป็นครูช่างหัตถกรรมไทย สาขาจักสานผักตบชวา เล่าว่า มีพื้นฐานจากการจักสานไม้ไผ่ เป็นสิ่งของต่าง ๆ แต่ต่อมาต้นไผ่เริ่มขาดแคลน เมื่อประมาณปี 2530 ได้อ่านหนังสือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า เส้นใยผักตบชวาก็สามารถนำมาใช้งานจักสานแทนไม้ไผ่ได้ จึงแปลงร่างผักตบชวาเป็นเครื่องจักสาน ผลงานของที่นี่พิเศษยิ่งกว่า ที่อื่น เพราะสามารถสร้างความหลากหลาย “ผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้าแตะ ตะกร้า หมวก ถาดผลไม้ ทั้งยังพัฒนางานออกแบบและเทคนิคย้อมสีที่ให้ผลลัพธ์สวยสะดุดตา กระทั่งก้าวขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ5ดาว ที่เน้นส่งออกขายในตลาดต่างประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ สิงคโปร์ ฝรั่งเศส ฯลฯ |
|
|
ผ้าบาติกลายขนมปังขิง อัตลักษณ์ชุมชน | ประวัติของผ้าบาติกในประเทศไทย พบว่า ถือกำเนิดจากศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับอิทธิพลจากอินโดนีเซีย เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 3 ครั้ง ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จฯ ทอดพระเนตรผ้าบาติก หรือ ผ้าบาเต๊ะ และได้ทรงสั่งซื้อกลับมาสยามอีกจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าสมเสด็จพระนางเจ้าสิริกิติติ์พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมหาราชวัง
“กลุ่มสรรพยาบาติก” ได้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดยการนำเทคนิคการเขียนผ้าบาติคจากภาคใต้ มาพัฒนาลวดลายโดยใช้สัญลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท คือ “ลายนกเงือก สีชมพูบานเย็น” เป็นสินค้า OTOP ได้ประกาศนียบัตร 4 ดาว โดยในปีพ.ศ. 2564 ได้นำเทคนิคการพิมพ์ลายบนผืนผ้าโดยการนำ “ลวดลายขนมปังขิง” หรือ แนวช่องไม้ฉลุลาย “นกฮูก” ที่เป็นเชิงชายอาคารโรงพักเก่าสรรพยาที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน มาออกแบบผสมผสานกับ“ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญาฯ พัฒนาเป็นลวดลายที่ร่วมสมัยบนผ้าบาติก และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายรูปแบบด้วยความประณีต สวย งาม คงคุณค่า อัตลักษณ์ วัฒนธรรมของชุมชน |
![]() ![]() |